โรคความดันสูงวิ่งได้หรือไม่! อาการที่นักวิ่งไม่ควรมองข้าม

August 11, 2023

ปัจจุบันคนไทยเป็นโรคความดันโลหิตมากถึง 11 ล้านคน และจะมีอัตราสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งโรคความดันสูงนั้น ถือเป็นภัยเงียบที่ทุกๆ คนไม่ควรมองข้าม เพราะความดันโลหิตสูงในระยะแรก ๆ อาจไม่มีอาการ ทำให้คนส่วนมากอาจจะไม่รู้ตัว

ภาพจาก vibhavadi

ซึ่งผลกระทบจากการเป็นโรคความดันโลหิตสูงนั้น สำหรับผู้ที่พึ่งมีอาการ จะต้องเจอกับอาการ ปวดมึนท้ายทอย ตึงที่ต้นคอ เวียนศีรษะ ในบางรายอาจมีอาการปวดศีรษะตุบๆ ลักษณะคล้ายไมเกรน แต่ในผู้ป่วยที่เป็นมานาน ก็อาจมีอาการอ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย ใจสั่น นอนไม่หลับ  และเมื่อมีอาการมากอาจส่งผลให้เกิดอาการโคม่า และอันตรายที่สุดคือ อาจส่งผลถึงชีวิตได้ในอนาคต

สาเหตุของโรคความดันโลหิตสูงเกิดจากอะไร

สาเหตุที่ก่อให้เกิดโรคความดันโลหิตสูงนั้น สามารถเกิดขึ้นได้หลาย ๆ ปัจจัย ซึ่งแบ่งได้เป็น 2 ประเภทด้วยกัน คือ ปัจจัยที่ควบคุมไม่ได้ และ ปัจจัยที่ควบคุมได้ รายละเอียดจะแตกต่างกัน ดังนี้

1. โรคความดันโลหิตจากปัจจัยที่ควบคุมไม่ได้

- กรรมพันธุ์ จากการสำรวจในการเกิดโรค พบว่า ผู้ที่มีพ่อแม่เป็นโรคความดันโลหิตสูง มีโอกาสและความเสี่ยงในการเป็นโรคความดันโลหิตสูงได้มากกว่าคนทั่วไป

- เพศและอายุ เกิดจากการเปลี่ยนแปลงของร่างกาย มีข้อมูลบ่งบอกว่า พบในผู้ชายมากกว่าผู้หญิง แต่เมื่ออายุเลย 50 ปีขึ้นไป ผู้หญิงจะมีโอกาสเกิดโรคความดันโลหิตสูงมากกว่าผู้ชาย เนื่องจากผู้หญิงมีฮอร์โมนเอสโทรเจนลดลง ซึ่งมีผลต่อความยืดหยุ่นของเส้นเลือดนั่นเอง

ภาพจาก chiangmainews

2. โรคความดันโลหิตจากปัจจัยที่ควบคุมได้

- อ้วนหรือมีน้ำหนักเกิน 

- ไขมันในเลือดสูง

- ดื่มแอลกอฮอล์อย่างหนัก

- กินเค็มเป็นประจำ

- ขาดการออกกำลังกาย

- มีภาวะดื้ออินซูลินหรือเป็นเบาหวาน

อาการความดันโลหิตสูงสังเกตได้อย่างไร?

ภาพจาก myhealthcare

โรคความดันโลหิตสูง เปรียบเสมือนภัยเงียบ หากความดันสูงเล็กน้อยหรือปานกลาง มักไม่มีอาการเตือนให้รู้ตัว แต่สำหรับผู้ที่มีความดันโลหิตสูงมาก ก็อาจมีอาการเหล่านี้ได้ เช่น ปวดศีรษะตุบ ๆ บริเวณท้ายทอย เวียนศีรษะตอนตื่นนอนใหม่ ๆ ตาพร่ามัว เหนื่อยง่าย เจ็บหน้าอก เป็นต้น 

สำหรับใครที่เครื่องวัดความดันนั้น สามารถเช็คความดันได้ โดยความดันโลหิตค่าบนไม่เกิน 120 มม.ปรอท และความดันโลหิตค่าล่างไม่เกิน 80 มม.ปรอท เรียกสั้นๆ ว่า 120/80

วิธีป้องกันโรคความดันโลหิตสูงสามารถป้องกันได้อย่างไรบ้าง

หลาย ๆ คนอาจจะคิดว่า ถ้าเป็นโรคความดันโลหิตสูงแล้วไปออกกำลังกาย หัวใจเต้นแรงขึ้นจะเสี่ยงทำให้เส้นเลือดแตก กลายเป็นอัมพฤกษ์ อัมพาต หรือเสียชีวิตได้ จึงหลีกเลี่ยงการออกกำลังกาย หรือไม่กล้าออกกำลังกายที่ระดับความเหนื่อยมาก ๆ 

แต่ในปัจจุบัน โรคความดันโลหิตได้รับการวิจัย และยืนยันแล้วว่า การปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ควบคุมอาหาร และออกกำลังกาย สามารถป้องกันและบรรเทาโรคนี้ได้

ภาพจาก sanook

วิธีการออกกำลังกายสำหรับผู้เป็นความดันโลหิตสูงนั้น แพทย์ส่วนมากแนะนำให้ออกกำลังกายโดยการทำแอโรบิค (Aerobic) เช่น การเดินเร็ว วิ่งจ๊อกกิ้งเบาๆ ว่ายน้ำหรือขี่จักรยาน ซึ่งจะเป็นการออกกำลังกายแบบต่อเนื่อง ควรเน้นกิจกรรมที่มีการใช้กล้ามเนื้อส่วนต่าง ๆ ในการเคลื่อนไหว และ เป็นกิจกรรมที่ไม่หนักจนเกินไป เพราะกิจกรรมที่หนักจนเกินไปอาจส่งผลทำให้ความดันโลหิตสูงขึ้นได้ การออกกำลังกายที่ควรจะอยู่ในระดับที่เบา ถึงระดับปานกลาง แต่ให้ใช้เวลาในการออกกำลังกายให้นานขึ้น กล่าวคือ ระยะเวลาในแต่ละครั้งของการออกกำลังกายควรอยู่ระหว่าง 30-60 นาที / ครั้ง

นอกจากการออกกำลังกายแล้ว เบื้องต้นโรคความดันโลหิตสูงนั้นสามารถป้องกันได้โดย พยายามหลีกเลี่ยงการรับประทานที่มีรสเค็มจัด อาหารที่มีไขมันสูง งดสูบบุหรี่และงดดื่มแอลกอฮอล์ เป็นต้น

อย่างไรก็ตามสำหรับใครที่เป็นโรคความดันโลหิตสูงอยู่นั้น ควรได้รับการรักษาทางการแพทย์ก่อนและถ้าหากต้องการออกกำลังกายควรปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญก่อนจะออกกำลังกาย 

ภาพจาก tescolotus

การออกกำลังกายสำคัญกับโรคความดันโลหิตสูงอย่างไร

การออกกำลังกายนั้นสามารถช่วยเรื่องการควบคุมความดันโลหิตสูงได้เป็นอย่างดี เพราะการออกกำลังกายนั้นจะช่วยเพิ่มความยืดหยุ่นของเส้นเลือด ลดไขมันทั้งในร่างกายและหลอดเลือด ทำให้ความต้านทานในหลอดเลือดลดลง หัวใจและปอดแข็งแรงขึ้น ทำให้ปริมาณเลือดที่สูบฉีดแต่ละคร้ังเพิ่มขึ้น สำหรับผู้ที่มีความดันโลหิตอยู่ในเกณฑ์ปกตินั้น การออกกำลังกายช่วยป้องกันการเกิดความดันโลหิตสูงได้ และสำหรับผู้ที่เป็นความดันโลหิตสูง การออกกำลังกายจะช่วยลดความดันโลหิตให้อยู่ในระดับที่ดีได้

ภาพจาก businessinsider

สรุปทั้งหมด

สำหรับผู้ที่เป็นความดันโลหิตสูงหรือผู้ที่มีแนวโน้มจะเป็นนั้น เราแนะนำว่าควรออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ อย่างน้อย 3 ครั้ง/สัปดาห์ หรือ ถ้าสามารถออกกำลังกายมากกว่านั้นก็ส่งให้ผลดีมากยิ่งขึ้น แต่สิ่งที่สำคัญคือ เราไม่ควรหักโหมจนเกินไป เพราะจะก่อให้เกิดอันตรายได้

อย่างไรก็ตามผู้ที่มีความดันโลหิตสูง และต้องการที่จะออกกำลังกายอย่างเป็นกิจลักษณะ ควรที่จะปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญก่อนที่จะเริ่มออกกำลังกาย และควรที่จะได้รับคำแนะนำถึงชนิดของการออกกำลังกายอย่างเหมาะสมจากผู้ชำนาญการด้านการออกกำลังกาย หรือควรวัดสมรรถภาพความฟิตของร่างกายด้วย VO2max เพื่อประเมินร่างกาย หัวใจ และปอด ก่อนออกกำลังกาย เพื่อป้องกันความเสี่ยงจากอันตรายของการออกกำลังกายที่ไม่เหมาะสมกับร่างกาย