"พักผ่อนไม่เพียงพอ" เสี่ยงเป็นโรคอะไรบ้าง? พร้อมวิธีแก้ไข

TIPS: 18 กุมภาพันธ์ 2021

หลายคนอาจจะเคยสละเวลาการพักผ่อน เพื่อที่จะได้ดูซีรีส์เรื่องโปรด เคลียร์โปรเจ็กต์ หรืองานที่ยังค้างอยู่ แล้วบอกกับตัวเองว่า เดี๋ยวกินกาแฟ และเครื่องดื่มชูกำลังในตอนเช้า ก็ช่วยให้หายง่วงได้ แต่ในทางการแพทย์ชี้ว่า พฤติกรรมเหล่านั้นเป็นหนึ่งในพฤติกรรมที่ส่งผลเสียต่อสุขภาพ มาดูกันครับว่าการพักผ่อนไม่เพียงพอ ทำให้เราเสี่ยงต่อการเป็นโรคอะไรได้บ้าง

  • โรคหัวใจและหลอดเลือด - เมื่อพักผ่อนน้อยจะทำให้เกิดภาวะเครียดง่าย ส่งผลกระทบต่ออวัยวะต่าง ๆ เช่น ระบบการทำงานของ ไต ตา หัวใจ และหลอดเลือด แถมยังเสี่ยงภาวะหัวใจวายสูงด้วย
  • โรคเบาหวาน - การพักผ่อนไม่เพียงพอ ทำให้ปริมาณน้ำตาลกลูโคสในเลือด และอินซูลินเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว จึงเสี่ยงต่อโรคเบาหวานสูง
  • มะเร็งลำไส้ - เมื่อพักผ่อนไม่เป็นเวลา การกินอาหารก็จะไม่ตรงเวลาไปด้วย ส่งผลต่อระบบการทำงานของลำไส้ผิดปกติ อาจทำให้ลำไส้อุดตัน และก่อให้เกิดมะเร็งในที่สุด

ด้านบนที่เรากล่าวมาคือ เคสที่สะสมกันเป็นเวลานาน ทำให้เกิดโรคร้ายแรงเหล่านี้ได้ แต่สิ่งที่เราเห็นได้ทั่วไปจากผู้ที่พักผ่อนน้อยนั้นมีอีกหลายอย่างมากมาย เช่น น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้น, เหม่อลอยเกิดอุบัติเหตุได้ง่าย, ขี้ลืม, อารมณ์แปรปรวน แม้กระทั่งผิวเกิดรอยย่นและบวม ดังนั้นมาดูวิธีแก้ไขเพื่อป้องกันภาวะเหล่านี้กัน


วิธีปรับเปลี่ยนนิสัยสำหรับคนที่พักผ่อนไม่เพียงพอ

  • ฝึกการนอนที่ถูกสุขลักษณะ เพราะการฝึกพฤติกรรมก่อนนอนให้เป็นนิสัยจะช่วยให้เราหลับได้อย่างมีสิทธิภาพ เช่น หลีกเลี่ยงการดูโทรทัศน์ หรืออุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ก่อนเข้านอน และไม่ควรเข้านอนทั้ง ๆ ที่ยังรู้สึกกังวลหรือเครียดเพราะอาจทำให้คุณนอนไม่หลับหรือหลับไม่สนิทอีกด้วย
  • เข้านอนและตื่นให้เป็นเวลา โดยการกำหนดให้การนอนอยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม ทำตามได้ดังนี้

- อายุ 3 - 5 ปี (ควรนอน 10 - 13 ชั่วโมง / วัน), อายุ 6 - 13 ปี (ควรนอน 9 - 11 ชั่วโมง / วัน), 

- อายุ 14 - 17 ปี (ควรนอน 8 - 10 ชั่วโมง / วัน), อายุ18 - 25 ปี (ควรนอน 7 - 9 ชั่วโมง / วัน), 

- อายุ 26 - 64 ปีขึ้นไป (ควรนอน 7 - 9 ชั่วโมง / วัน)  ทำเป็นประจำอย่างสม่ำเสมอ เป็นการช่วยปรับสมอง และร่างกายให้คุ้นชิน จนสามารถหลับเองได้ง่าย 

  • ผ่อนคลายจิตใจก่อนนอน ด้วยการออกกำลังกายเบา ๆ ไม่ต้องถึงขั้นเหงื่อออกเยอะ, อ่านหนังสือ สักประมาณ 15 หน้า หรือฟังเพลงเพื่อสร้างความเพลิดเพลินและคลายเครียด แม้กระทั่งการอาบน้ำอุ่นเพื่อปรับอุณหภูมิในร่างกายก็ช่วยได้เช่นกัน
  • หลีกเลี่ยงอาหารและพฤติกรรมเสี่ยง แม้วัยทำงานจะหลีกเลี่ยงการทำงานหนักไม่ได้ จนต้องพึ่งกาแฟหรือเครื่องดื่มชูกำลังก็ตาม แต่ถึงอย่างไรก็ควร ลดส่วนผสมของคาเฟอีน แอลกอฮอลล์ หรือนิโคติน โดยเฉพาะช่วงก่อนเข้านอน เป็นอีกหนึ่งวิธีที่ช่วยในการนอนหลับได้ดีเยี่ยมไม่แพ้กัน

สุดท้ายนี้ผมอยากฝากกับทุกคนว่า ควรจะให้ความสำคัญกับการพักผ่อนเป็นอย่างมาก และปฏิบัติตามที่เราได้กล่าวไปทั้งหมดจะดีที่สุดครับ เพียงเท่านี้สุขภาพกายและใจของคุณก็จะดีขึ้นเป็นอย่างมากเลยครับ