เทคนิควิ่งไม่ให้จุกท้องทำแล้วไม่ท้อต่อการวิ่ง

TIPS: 18 มิถุนายน 2020

7 วิธีที่ทำแล้วไม่จุกท้องเพื่อให้ไม่ท้อต่อการวิ่ง

1."เลี่ยงอาหารหนักและน้ำอัดลม" ไม่ควรทานอาหารก่อนไปวิ่งหรือไม่ก็ควรทานอาหารก่อนไปออกกำลังกายสัก 2 ชั่วโมง หลีกเลี่ยงการกินอาหารที่ย่อยยากอย่างแป้ง ถั่ว น้ำอัดลมยิ่งไม่ได้เลยเพราะแก๊สเยอะมาก อาจทำให้เราเกิดอาการจุกขณะที่วิ่งอยู่ได้

2."วอร์มอัพก่อนวิ่ง" การวอร์มอัพสำคัญที่สุดเพราะการวอร์มอัพจะช่วยเตรียมกล้ามเนื้อส่วนต่างๆให้พร้อม เพิ่มความยืดหยุ่นของเอ็นและกล้ามเนื้อทุกส่วนให้สามารถออกกำลังกายได้อย่างเต็มที่ แถมยังช่วยกระตุ้นลำไส้ให้ทำงานได้ดีขึ้น ทำให้อาหารที่ตกค้างในกระเพาะถูกย่อยจนหมด ลดโอกาสเกิดอาการจุกท้อง จุกลิ้นปี่ขณะวิ่งได้

3."หายใจอย่างถูกวิธีในขณะวิ่ง" คือ การหายใจเข้าทางจมูก และปล่อยลมหายใจออกพร้อมกันทั้งทางจมูกและปาก การหายใจควรปล่อยให้เป็นไปอย่างสบายและพยายามหายใจด้วยท้อง เพราะการหายใจไม่ถูกวิธีอาจจะทำให้เกิดการจุกเสียดขณะวิ่งได้ 

4."ปรับท่าในการวิ่ง" โดยวิ่งหลังตรงและเป็นธรรมชาติมากที่สุด ศีรษะตรง ตามองไปข้างหน้า ส่วนต่าง ๆ ตั้งแต่ศีรษะลงมาที่หัวไหล่ สะโพก จนถึงพื้นเป็นเส้นตรง ลำตัวไม่โน้มไปด้านหน้าหรือเอนไปด้านหลัง ลองสังเกตตัวเองแล้วปรับใช้ให้ถูกต้อง

5."เพิ่มความแข็งแรงให้ช่วงลำตัว" กล้ามเนื้อช่วงลำตัวได้แก่ กล้ามเนื้อท้อง หลัง และสะโพก ก็เป็นส่วนที่ถูกใช้งานค่อนข้างหนักในการวิ่งไม่แพ้ช่วงล่างเช่นกัน ดังนั้นเพื่อให้เราสตรองมากกว่าเดิม วิ่งได้สบายขึ้นกว่าที่เคย ก็ควรฟิตเฟิร์มส่วนนี้ให้แข็งแรงด้วยนะ

6."ใช้ที่รัดเอว" ถ้ากล้ามเนื้อท้องไม่แข็งแรง ก็สามารถทำให้เกิดอาการจุกท้องได้เช่นเดียวกัน อย่างไรก็ตาม การใช้ที่รัดเอว รัดหน้าท้องให้แน่นขึ้นเพื่อลดการเคลื่อนไหวในช่องท้องตอนวิ่ง สามารถช่วยลดอาการนี้ได้

7."พักและยืดเส้น" ถ้าอาการจุกยังไม่หายไปอีก คราวนี้ลองวิ่งให้ช้าลงจนกระทั่งหยุดวิ่ง แล้วมายืดเหยียดร่างกายกันสักเซต จากนั้นค่อยเริ่มวิ่งไปต่อ วิธีนี้ก็จะช่วยให้เราวิ่งต่อไปได้สบายขึ้น วิ่งได้นานขึ้นโดยไม่ทรมานแล้ว

ใครที่อยากจะวิ่งออกกำลังกายแต่ก็มีปัญหาจุกท้อง จุกลิ้นปี่อยู่เป็นประจำ ลองเอาเทคนิคที่เราแนะนำไปใช้ดูนะครับ จะได้มีกำลังใจวิ่งมากขึ้นในทุกวันๆ เพื่อสุขภาพร่างกายที่แข็งแรง และมีหุ่นที่ฟิตแอนด์เฟิร์ม