วิ่งเปลี่ยนชีวิต จากผู้ป่วยโรคตับระยะสุดท้าย !

August 11, 2023

เรื่องราวชีวิตจริงของคุณ “เดชา คูณพันธ์” อดีตผู้ป่วยไวรัสตับเอกเสบบี ที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัส กินอะไรเข้าไปก็ทำให้จุกเสียด อาเจียน ร่างกายที่ดูเหมือนจะไม่รับอะไร เนื่องจากกินอะไรก็อาเจียนออกมาหมด แต่ร่างกายก็ดันเก็บไขมันได้มากกว่าการเผลาผลาญจนทำให้ร่างกายอ้วนในที่สุดและทำให้ไขมันพอกตับถึงขั้นเกิดอาการตับแข็ง

รวมไปถึงอาการของโรคนี้จะแสดงออกมาอย่างเห็นได้ชัดเมื่อร่างกายเราอ่อนแอ ส่งผลให้คุณเดชาความดันโลหิตขึ้นสูง และอาการวิงเวียนศีรษะถึงขั้นลุกเดินไปไหนไม่ได้ หมอได้พยายามรักษาทุกหนทางแล้ว แต่ก็ไม่มีท่าทีที่จะดีขึ้น จนหมอที่รักษาอาการของคุณเดชานั้นถึงขึ้นพูดออกมาว่า อาการของโรคตับนี้ร้ายแรงมาก อาจมีชีวิตอยู่ได้เพียง 3 ปี 

และวลีเด็ดอีกคำก็คือ “ให้เลือกระหว่างไปวัด กับ ไปวิ่ง จะเลือกอะไร” เพื่อเป็นแรงกระตุ้นให้คนป่วยนั้นหันมาออกกำลังกาย ด้วยอาการของโรคตับที่ร้ายแรงบวกกับลักษณะรูปร่างร่างกายที่อ้วน จึงเป็นอะไรที่ทำให้การมาออกกำลังกายเป็นไปได้ยากมาก

แต่แล้วในที่สุดคุณ “เดชา คูณพันธ์” ก็ได้ตัดสินใจเริ่มทำมันจริง ๆ จนในปัจจุบันได้เห็นผลลัพธ์ที่ดีหลายอย่างมากมายในชีวิต วันนี้เราเลยอยากถ่ายทอดเรื่องราวนี้ให้กับทุก ๆ คน เพื่อเป็นเรื่องราวที่มอบแรงบันดาลใจ และให้เห็นถึงความสำคัญของสุขภาพมากขึ้นครับ


ทำความรู้จักกับอาการของโรคไวรัสตับอักเสบบี

ไวรัสตับอักเสบบี คือการติดเชื้อโดยเชื้อไวรัสชนิดหนึ่ง ซึ่งส่วนใหญ่พบในตับ เรียกว่าเชื้อไวรัสตับอักเสบบี (HBV) เชื้อไวรัสชนิดนี้สามารถแพร่เชื้อไปยังผู้อื่นได้ง่าย และการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบีทำให้กลายเป็นการติดเชื้อชนิดเรื้อรังได้

การติดเชื้อเรื้อรังหมายถึงเชื้อไวรัสยังคงแบ่งตัวต่อเนื่องในตับเป็นเวลามากกว่า 6 เดือนซึ่งเป็นสาเหตุให้เซลล์ตับตาย มีการอักเสบ และเกิดพังผืดในตับ การติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบีสามารถนำไปสู่การเกิดภาวะตับแข็งและมะเร็งตับได้ด้วย

โดยการแพร่เชื้อของไวรัสตับอักเสบบีนั้น จะแพร่เชื้อไปสู่ผู้ที่ไม่มีภูมิคุ้มกันได้ง่ายผ่านทางเยื่อบุผิวที่สัมผัสกับเลือดที่ติดเชื้อ น้ำอสุจิและสารคัดหลั่งต่าง ๆ จากร่างกาย ซึ่งโดยปกติแพร่เชื้อผ่านเหตุการณ์ต่าง ๆ เหล่านี้ เช่น

  • การคลอด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในระหว่างการคลอด (การแพร่เชื้อจากมารดาที่ติดเชื้อสู่ทารก)
  • ในระหว่างมีเพศสัมพันธ์กับผู้ที่ติดเชื้อ
  • ใช้เข็ม กระบอกฉีดยาหรืออุปกรณ์ที่ใช้ในการฉีดยาซึ่งสัมผัสกับเลือดที่ติดเชื้อ
  • การใช้ของใช้ร่วมกับผู้ที่ติดเชื้อ เช่น มีดโกนหนวด แปรงสีฟัน
  • สัมผัสกับเลือดที่ติดเชื้อ (บาดแผลที่เกิดจากของมีคมบาด ถูกเข็มทิ่มแทง ใช้กระบอกฉีดยา เข็มหรืออุปกรณ์อื่น ๆ ร่วมกัน ซึ่งปนเปื้อนเลือดที่ติดเชื้อ)

เชื้อไวรัสตับอักเสบบีอาจมีชีวิตอยู่นอกร่างกายได้ประมาณ 7 วันและยังคงแพร่เชื้อในช่วงเวลานี้ได้

"วิธีป้องกัน"โรคนี้นั้นสามารถฉีดวัคซีนต้านการติดเชื้อของไวรัสตับอักเสบบี ซึ่งราคาถูกและมีประสิทธิผลเป็นอย่างมาก องค์การอนามัยโลกแนะนำให้ใช้เป็น “การให้ภูมิคุ้มกันแบบสากลทั่วโลก” โดยให้วัคซีนครั้งแรกในทารกแรกเกิดทุกราย ตามด้วยการให้วัคซีนอีกสองครั้งภายใน 6 เดือนแรก การให้ภูมิคุ้มกันในเด็กโตและผู้ใหญ่ประกอบด้วยการให้วัคซีนสามครั้งในช่วงเวลาที่เหมาะสม

ส่วน"วิธีรักษา"สำหรับผู้ที่ติดเชื้อแล้วนั้นรักษาได้เพียงแค่การทานยาต้านไวรัสอย่างสม่ำเสมอ และการดำเนินการดูแลตับตามความเหมาะสมของอาการ หรืออย่างเคสของคุณ “เดชา คูณพันธ์” ที่เป็นโรคนี้เพราะกรรมพันธุ์ ก็ได้รักษาผ่านวิธีการกินยาเช่นกัน แต่กลับเป็นหนักขึ้นจนเกือบถึงขั้นเสียชีวิต จึงทำให้เราเห็นได้ว่าวิธีรักษาที่ดีที่สุดก็คงจะเป็นการออกกำลังกายและดูแลสุขภาพของเรานั่นเองครับ


จากผู้ป่วยสู่ผู้สร้างแรงบันดาลใจให้กับผู้อื่นได้รักสุขภาพมากยิ่งขึ้น

ภาพจาก Facebook:เดชา คูณพันธ์


เหตุการณ์นี้จัดได้ว่าเป็น "Case study" ของโรงพยาบาลที่ได้รักษาคุณ “เดชา คูณพันธ์” เลยทีเดียวครับ เพราะเป็นกรณีศึกษาที่ใช้ได้ผลจริงและได้รับการถ่ายทอดเพื่อไปรักษาผู้อื่นได้จริงอีกด้วย นอกจากจะเป็นแนวทางการรักษาโรคนี้แล้วยังเป็นแนวทางช่วยให้ผู้ที่ป่วยโรคต่าง ๆ หันมาออกกำลังกายกันมากขึ้นด้วย

ปัจจุบันคุณเดชาเอาดีเรื่องของการวิ่งจนถึงขั้นได้เป็นคณะกรรมการของชมรม “เดินวิ่งปั่น” ของที่ทำงานในโรงพยาบาล BNH ที่ได้รับการแต่งตั้งและยอมรับจากเพื่อน พี่ น้องที่ร่วมใจช่วยกัน จากแรงใจของทุกคนที่เคารพต่อคุณเดชา

โครงการนี้ถูกสร้างมาเพื่อเป็นแบบอย่างการออกกำลังกายให้กับทุก ๆ คน แถมยังมีผู้ร่วมสนใจเข้าชมรมนี้เป็นจำนวนมากด้วย เนื่องจากเห็นตัวอย่างที่คุณเดชาได้ทำไว้ ทั้งเรื่องของสุขภาพที่ดีขึ้น และการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมต่าง ๆ ในชีวิต ที่ได้ผลลัพธ์ที่ดีอย่างเห็นผลได้จริง

ผู้คนที่อยู่รอบตัวคุณเดชานั้น ต่างก็พูดเป็นเสียงเดียวกันว่า ด้วยความที่คุณเดชาเป็นคนที่อัธยาศัยดีอยู่แล้ว และบางคนเห็นวิวัฒนาการตั้งแต่ คุณเดชาป่วยจนถึงอาการดีขึ้น จึงทำให้คนเหล่านั้นต่างก็หันมาออกกำลังกายตามกันเป็นแถว ๆ

ไม่ใช่เพียงแค่การออกกำลังกาย แม้แต่การใช้ชีวิตการกิน การพักผ่อน และการศึกษาธรรมะที่เป็นได้เป็นตัวอย่างที่ดีแก่คนรอบข้าง และที่ดึงดูดคนอีกกลุ่มเป็นจำนวนมากก็คือ ผู้ที่มีน้ำหนักตัวเยอะนั่นเอง

เพราะก่อนหน้านี้ที่คุณเดชาป่วยหนัก มีน้ำหนักตัวค่อนข้างเยอะ จนกระทั่งมาเริ่มจากเดินช้า ๆ ค่อย ๆ ปรับตัวแล้วขยับมาวิ่ง จากนั้นร่างกายก็ค่อย ๆ มีรูปร่างที่ดีขึ้นต่างจากหุ่นอ้วนที่เคยมีไปเลยสิ้นเชิง และสะท้อนให้เห็นถึงเรื่องค่าใช้จ่ายในการรักษาโรคชนิดนี้ หรือจะโรคชนิดอื่นก็ตาม ที่สามารถหายได้จากการวิ่งออกกำลังกายโดยไม่ต้องเสียเงินเลยสักบาทเดียว


ผลตอบแทนอะไรบ้าง ? ที่ได้รับจากการมีวินัยและการมีสุขภาพที่ดีขึ้น

ภาพจาก Facebook:เดชา คูณพันธ์


ตอนเริ่มต้นสำหรับคุณ เดชา คูณพันธ์ นั้นเป็นไปได้ยากมากครับ ทั้งอาการข้างเคียงของโรคตับอักเสบบีและน้ำหนักตัวเยอะ เขาจึงได้เริ่มจากการเดิน เป็นระยะเวลายาวนานถึง 2 ปีกว่า ๆ จนกระทั่งผลการตรวจร่างกาย พบเชื้อไว้รัสน้อยกว่าเดิม และเป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้น เขาจึงค่อย ๆ ขยับจากเดินมาเริ่มวิ่ง เพื่อเยียวยาโรคร้ายที่อยู่ในร่างกายตัวเองต่อไปเรื่อย ๆ 

หลังจากนั้นคุณเดชาก็ได้หลงรักการวิ่งไปโดยไม่รู้ตัว เนื่องจากการวิ่งนั้นเป็นการออกกำลังกายที่เริ่มต้นได้ง่ายมาก แม้แต่เขาเองก็ยังทำได้ หลังจากที่ร่างกายเริ่มมีความฟิตมากขึ้น เขาก็เริ่มพาตัวเองไปลงงานแข่งขันวิ่งมาราธอนครั้งแรกที่ระยะ 10 กิโลเมตร และผ่านมันไปได้อย่างสบาย

ด้วยร่างกายที่ผ่านการฝึกซ้อมสม่ำเสมอ จนทำให้เขาพัฒนาไปถึงงานมาราธอนระยะ 21 กิโลเมตร จนกระทั่งถึง Full marathon ระยะ 42 กิโลเมตร เลยทีเดียว นอกจากนั้นยังได้ไปถึงงานวิ่งคนเหล็ก 2017 แถมยังได้ขึ้นเป็นทำเนียบคนเหล็กอีกด้วย จนถึงปัจจุบันคุณเดชาได้ร่วมวิ่งทุกงานเท่าที่จะไปได้ รวมไปถึงการวิ่งเทรล ที่เป็นการวิ่งขึ้นเขาลุยป่า (เรียกได้ว่าโหดมาก!!)

จนในปัจจุบันนั้นหายขาดจากโรคไวรัสตับอักเสบบีเป็นที่เรียบร้อย สุขภาพร่างกายแข็งแรงเหมือนคนทั่ว ๆ ไป หรืออาจจะแข็งแรงกว่าด้วยซ้ำ เนื่องจากออกกำลังกายอย่างมีวินัยและสม่ำเสมอมาอยู่ตลอด จนผู้คนรอบข้างถึงขั้นเอ่ยปาก เป็นห่วงว่าจะออกกำลังกายหนักเกินไปหรือเปล่า เพราะคุณเดชานั้นฟิตมากจริง ๆ 

ทุกวันนี้คุณเดชานอกจากจะเป็นแรงบันดาลใจให้คนอื่น ๆ หันมาออกกำลังกายแล้ว หากใครได้ติดตามเขาทาง Facebook หรือตามกลุ่มวิ่งต่าง ๆ จะเห็นเลยว่า คุณเดชานั้นได้จัดงานวิ่งและร่วมงานวิ่งบริจาคช่วยเหลือผู้คนที่มีปัญหาทางร่างกาย หรือเด็ก ๆ ยากไร้เป็นบ่อยครั้งด้วย และได้รับเชิญไปออกรายการโทรทัศน์เพื่อเป็นตัวอย่างและเป็นแรงบันดาลใจให้ผู้อื่นได้รับรู้มากขึ้น

และอีกหนึ่งแรงบันดาลใจสำคัญที่สุด ที่ทำให้เขามาถึงจุดนี้ได้นั่นก็คือ หมอที่ได้รักษาเขานั่นเอง หมอนั้นเป็นเหมือนอาจารย์ที่ได้ให้คำแนะนำต่าง ๆ รวมทั้งให้รู้จักกับการออกกำลังกาย และเป็นตัวอย่างที่ดีให้คุณเดชานั้นได้ปฏิบัติตาม คุณเดชานั้นเคารพหมอเป็นเหมือนไอดอล

เขาจึงอยากถ่ายทอดจากสิ่งที่ตัวเองได้รับ ไปสู่ผู้อื่นบ้าง เพื่อจะได้สร้างประโยชน์และสร้างแรงบันดาลใจดี ๆ ต่อไปอย่างไม่มีสิ้นสุด


สรุปทั้งหมด

“กีฬาเป็นยาวิเศษ” เป็นคำพูดธรรมดาที่สร้างชีวิตคนขึ้นมาใหม่ และยังเป็นแรงบันดาลใจไปให้ผู้อื่นอย่างกว้างขวางมาก ฉะนั้นอย่ามัวรอช้าเลยครับ อย่ารอให้เกิดอะไรไม่ดีเสียก่อน แต่ควรจะเริ่มต้นดูแลสุขภาพตัวเองได้แล้ว

เมื่อคุณ เดชา คูณพันธ์ ทำได้ และคนอื่น ๆ ที่แย่กว่าคุณทำได้ แล้วทำไมเรานั้นจะทำไม่ได้ จริงไหมล่ะครับ ดังนั้นอย่าให้ปัญหาเล็ก ๆ มาเป็นข้ออ้างของการออกกำลังกาย เริ่มต้นวันนี้ เห็นผลดีถึงวันหน้าแน่นอน