บำบัดจิตใจผ่านการเคลื่อนไหว วิ่งอย่างไรให้แข็งแกร่งทั้งร่างกายและจิตใจ ที่ไม่ว่าใครก็เริ่มต้นได้

August 11, 2023


เราทุกคนทราบกันดีว่า “การวิ่ง” ถือเป็นการออกกำลังกายที่ช่วยทำให้ร่างกายของเราแข็งแรง ห่างไกลโรคร้าย แต่น้อยคนนักที่จะทราบว่า การวิ่ง ยังสามารถเป็นส่วนช่วยบำบัด “จิตใจ” ของเราแข็งแกร่งได้มากขึ้น จากสภาวะความเครียดหรือปัญหาต่างๆ ที่เรากำลังเผชิญอยู่

เพราะในบทความนี้ เรามีเคล็ดลับดีๆ ที่จะมาเปลี่ยนทำให้การวิ่งออกกำลังกายธรรมดาของคุณ กลายเป็นเครื่องมือในการออกกำลังใจ ขัดเกลาสมาธิ ให้คุณมีสภาพร่างกายและจิตใจที่แข็งแกร่ง พร้อมเผชิญกับทุกปัญหา

ผ่านการบอกเล่าของคุณดาว ดุจดาว วัฒนปกรณ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการบำบัดจิตด้วยการเคลื่อนไหว หนึ่งเดียวของประเทศไทย ซึ่งจะมีรายละเอียดและเคล็ดลับอย่างไรบ้าง ติดตามได้ที่บทความนี้ครับ >>


นิยามของคำว่า “ออกกำลังกายให้ได้กำลังใจ”

ออกกำลังกายไม่ต้องสาธยายว่าจำเป็นแค่ไหนต่อเรื่องของสุขภาพ ผู้คนให้ความสนใจกับมันมาหลายสิบปี จนตอนนี้แทบไม่มีใครโต้แย้งสิ่งนั้น แต่..ขอถามอีกคำถามว่า.. แล้วการออกกำลังใจล่ะ เป็นเรื่องจำเป็นแค่ไหน 

หลายคนสงสัย..เอ๊ะ! ออกกำลังใจคืออะไร ไม่เห็นเคยได้ยิน หรือบางคนก็พอนึกได้ว่าเมื่อเราพูดถึงการทำงานกับจิตใจก็ต้องยกให้ผู้เชี่ยวชาญเช่น จิตแพทย์ นักจิตบำบัด นักจิตวิทยามาช่วยจัดการมันเท่านั้น ไม่จริง.. นักจิตบำบัดด้วยศิลปะการเคลื่อนไหวคนนี้บอกเลยว่าการออกกำลังใจให้แข็งแรงเป็นเรื่องจำเป็นมากไม่แพ้การออกกำลังกาย และไม่จำเป็นที่ต้องรอให้ตัวเองลงทะเบียนเป็นคนไข้ก็สามารถออกกำลังใจตัวเองได้มากเท่าที่ต้องการ

การออกกำลังใจเป็นเรื่องที่ใครๆก็ทำได้เอง และหลายคนทำอยู่แล้วแต่อาจจะไม่รู้ตัว เพราะการออกกำลังกายแบบที่ทำปกติก็ถือว่าเป็นการสร้างความแข็งแรงต่อสุขภาพใจ มันส่งเสริมเรื่องของสภาวะใจอยู่แล้วโดยที่คุณไม่ต้องทำอะไร 

มีงานวิจัยหลายฉบับยืนยันว่าการออกกำลังกายสม่ำเสมอลดภาวะซึมเศร้า เพิ่มฮอร์โมนความสุข นอนหลับมีคุณภาพขึ้น ความจำดีขึ้น ลดความกังวล คลี่คลายความเครียดสะสม เอาเป็นว่า...มันส่งเสริมสภาวะใจให้แข็งแรงแบบองค์รวมโดยไม่ต้องใช้ความพยายาม และมันทำงานกับสิ่งที่เราควบคุมไม่ค่อยได้ เช่น ระบบฮอร์โมน ระบบการเผาผลาญ ระบบการไหลเวียนโลหิต เป็นต้น 

แต่..ถ้าใครอยากเพิ่มทำ Mind Exercise หรือการออกกำลังใจกับสิ่งที่เราควบคุมพัฒนาได้อย่างเช่น ทักษะทางความคิด อารมณ์และสังคมต่างๆ ให้แข็งแกร่งไปเพิ่มไปพร้อมๆ กับการออกกำลังกาย บอกเลยว่าเราก็สามารถทำได้เหมือนกัน เพราะการเคลื่อนไหวร่างกายนั้นเป็นได้มากกว่าเพิ่มมวลกล้ามเนื้อและการลดน้ำหนักให้ได้ดั่งใจ

ในการทำจิตบำบัดด้วยศิลปะการเคลื่อนไหว การเคลื่อนไหวร่างกายมีประโยชน์ในการเรียกสิ่งที่ถูกเก็บเอาไว้ในกล้ามเนื้อและจิตใต้สำนึกกลับมาในห้วงปัจจุบัน เช่น ถ้าเราเรียนขับรถด้วยการฝึกขับ ร่างกายเราจะจำการขับรถจากความทรงจำของกล้ามเนื้อ และพอเราเข้าไปนั่งหลังพวงมาลัยรถเหมือนเดิม ความทรงจำนั้นก็กลับมาทำงานโดยที่เราไม่จำเป็นต้องพยายามคิดว่าจะต้องทำอะไรบ้าง 

หรือในเคสของบางคนที่เคยถูกผู้ปกครองกระชากข้อมือเพื่อให้รีบออกจากบ้านไปโรงเรียนบ่อยๆและสิ่งนั้นทำร้ายความรู้สึกของเขามาก พอโตขึ้นการโดนจับข้อมือเพียงเบาบางก็สามารถเรียกประสบการณ์นั้นกลับคืนมาได้ เป็นต้น

ร่างกายเป็นแหล่งรวมคำตอบที่สะสมมาจากประสบการณ์ชีวิตของแต่ละคน หลายๆครั้งคำตอบเหล่านั้นช่วยให้เข้าใจที่มาของความเครียด ความเสียใจ หรือความขัดแย้งในใจที่เกิดขึ้นในภาวะปัจจุบัน แต่..มันอาจถูกซ่อนไว้ในร่างกายส่วนที่ไม่ถูกเชื่อมโยงถึง 

หรือหลายครั้งร่างกายเราอาจจะอยู่ในโหมดที่ไม่พร้อมให้เราเชื่อมต่อไปเจอคำตอบเหล่านั้น พอเราเคลื่อนไหวแบบอิสระไปในทิศทางที่ต่างออกไปจาก Routine เดิมๆ ที่ไม่ใช่แค่นั่ง ยืน เดิน นอนที่มักทำในแต่ละวัน มันก็จะช่วยให้การเชื่อมต่อภายในเราหลากหลาย และเข้าไปค้นเจอสิ่งที่ซ่อนอยู่มานานได้ เช่น จำเรื่องที่ลืมไปแล้วได้ นึกคำตอบที่ไม่เคยนึกถึงมาก่อนได้ เห็นมุมมองที่ไม่เคยเห็นมาก่อน ฯลฯ

ในห้องจิตบำบัดด้วยศิลปะการเคลื่อนไหวทุกคนจะสามารถเข้าถึงกระบวนการนี้ได้ด้วยการนำพาไปของนักจิตบำบัด เริ่มต้นจากการวอร์มอัพร่างกาย และอนุญาตให้เคลื่อนไหวไปอย่างอิสระกับเรื่องในใจ จะยกแขน เตะขา หมุนตัว บีบกอดกลิ้งซ้ายขวาอย่างไรก็ได้ แล้วผู้เคลื่อนไหวก็แค่เฝ้ามองการเคลื่อนไหวเหล่านั้นของตัวเองไป เฝ้ามองอย่างไม่ตัดสิน มองมันมากกว่าการเป็นแค่การเคลื่อนไหวร่างกาย แต่คอยมองมันว่านี่คือการเคลื่อนไหวของจิตใจ 

ใจคนเราอยู่ในร่างกาย ถ้าไม่ได้ฝึกวิทยายุทธมาจนแยกตัวแยกใจขาดจากกันได้ คุณภาพการเคลื่อนไหวในร่างกายบ่งบอกทุอย่างที่อยู่ในใจของคนคนนั้น ร่างกายอยู่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันจิตใจของเรา ใจเราปรากฏตัวเด่นชัดอยู่ในการเคลื่อนไหวทุกท่วงท่า 

แต่ว่าในชีวิตประจำวันเราไม่ได้มองมันเพราะเราโฟกัสแค่เลเยอร์ของฟังก์ชั่นของการกระทำ เลยไม่ได้เห็นความเป็นไปของจิตใจภายใต้ร่างกายที่เคลื่อนไหวอยู่ พอในห้องบำบัดที่ไม่มีท่าทางตายตัวให้ออกลีลา และไม่มีเป้าหมายของฟังก์ชั่นให้ไปทำ ทุกอย่างที่ปรากฏในการเคลื่อนไหวและทุกคุณภาพของการเคลื่อนไหวคือมีที่มาจากโลกภายในของเจ้าตัวทั้งนั้น

เพื่อการทำงานกับใจ.. นักจิตบำบัดจะชวนให้ผู้คนเคลื่อนไหวไปกับเรื่องที่มีในใจ เพื่อเราตามเท่าทันใจ และอยู่กับเรื่องที่ติดขัดในใจนานขึ้น จนร่างกายได้รับฟังเรื่องภายในใจและค้นเจอคำตอบหรือมุมมองใหม่ๆให้กับตัวเอง การเท่าทันใจก็ถือว่าได้ออกกำลังใจ การรับฟังร่างกายและการฝึกมองมุมใหม่ๆให้กับเรื่องที่ติดขัดเป็นกระบวนฝึกใจให้แข็งแรงเมื่อเจอกับทางตีบตัน

กระบวนการนี้ดีต่อสุขภาพใจ แต่เราต้องไปหานักจิตบำบัดด้วยศิลปะการเคลื่อนไหวเพื่อจะทำไหม คำตอบคือไม่จำเป็น เราสามารถยืมกระบวนการเชื่อมต่อถึงจิตใจเราโดยผ่านการเคลื่อนไหวร่างกายมาใช้กับตัวเองได้ บางคนสบายใจจะเต้นอยู่ที่บ้านก็ได้ แต่หลายคนทำไม่ได้ก็อาศัยช่วงที่เราออกกำลังกายนี่แหละมาทำกระบวนการนี้ไปในตัว


ก่อนจะเริ่มเข้าสู่การบำบัดจิตใจด้วยการวิ่ง ต้องเตรียมตัวอย่างไรบ้าง ?

การวิ่ง เป็นการออกกำลังที่สามารถใช้เป็น Platform การออกกำลังใจได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพราะกระบวนการไม่ซับซ้อน มีอุปกรณ์น้อยและไม่ต้องระแวดระวังอะไรภายนอกมาก ที่สำคัญเวลาเราวิ่ง ร่างกายหลายส่วนของเราเคลื่อนไหวสอดประสานกันและทำงานพร้อมๆ กัน 

ทำให้เกิดการเชื่อมต่อข้อมูลภายในเกิดขึ้นได้มาก ดังนั้นการทำงานกับจิตใจโดยใช้การวิ่งเป็นตัวตั้งก็สามารถทำงานกับใจได้คล้ายๆ กับกระบวนการเคลื่อนไหวอย่างอิสระในห้องจิตบำบัดด้วยการเคลื่อนไหว แต่เราจะเริ่มทำมันได้ก็ต่อเมื่อเราเจรจากับร่างกายเราก่อนวิ่งดังนี้

  1. ขอปิดโหมดนักกีฬา : วันไหนอยากใช้การวิ่งเป็นการออกกำลังกาย ต่อรองกับตัวเองว่าวันนี้ฉันขอให้ปิดโหมดนักกีฬาที่ต้องรักษา Performance การวิ่ง การเต้นของหัวใจ Pace การก้าวของตัวเอง (วันที่ออกกำลังใจเราไม่จำเป็นต้องสนใจว่าวันนี้จะวิ่งดีหรือไม่ดี ถ้าจะให้ดีถอดนาฬิกาออกไปจากข้อมือเลยก็ได้ถ้าใจแข็งพอ)
  1. เลือกสถานที่วิ่งที่ไม่ต้องคอยกังวลเรื่องความปลอดภัย เช่น สวนสาธารณะ ลู่วิ่ง ถนนหมู่บ้าน เป็นต้น ไม่แนะนำให้ทำในพื้นที่ที่มียานพาหนะขับขี่ไปมา
  1. ปิดโหมดการตัดสินตัวเอง : ยอมให้คนมองว่าฟอร์มวิ่งเราไม่ดีสักหนึ่งวัน เพราะสิ่งที่เขาจะได้เห็นคือท่าวิ่งที่ไม่ถูกต้อง แต่สำหรับเรา วันนี้เราจะออกกำลังใจผ่านการเคลื่อนไหวอย่างอิสระภายใต้ฟอร์มการวิ่ง

9 เคล็ดลับที่คุณต้องทำตาม หากต้องการให้ร่างกายและจิตใจได้สื่อสารกันผ่านการวิ่ง

หลายคนกังวลว่าเราจะวิ่งเป็นบ้าเป็นหลังกางแขนกางขาขนาดนั้นเลยหรือเปล่า คำตอบคือเปล่า คุณจะยังดูดีดูได้ไม่อายใครในสวนอย่างแน่นอน เพราะฉะนั้นหลังจากที่ตกลงใจว่าจะลองออกกำลังใจในคราบของการวิ่งกับตัวเองได้แล้ว ขั้นตอนที่ตามมามีดังนี้

  1. วอร์มอัพ : ก่อนเริ่มวอร์มอัพตามแบบฉบับนักวิ่ง ยอมให้ร่างกายยืด เหยียด บิดไปตามอิสระ สะบัดแขนสะบัดขาเอาความเครียดสะสมในกล้ามเนื้อออกมา ให้ความรู้สึกเหมือนบิดขี้เกียจที่เมื่อบิดจนฟินแล้วก็ถือว่าพอ จากนั้นก็วอร์มอัพตามปกติ 
  1. ก่อนวิ่ง กำหนดจุดสิ้นสุดการวิ่งให้ตัวเองอย่างชัดเจน เช่น สองรอบสวนลุม สองรอบหมู่บ้าน เป็นต้น
  1. ออกวิ่งโดยเริ่มจากจังหวะช้าๆ ในช่วงนี้ค่อยๆผ่อนคลายต้นคอ ไหล่ แล้วอนุญาตให้เรื่องราวของตนเองที่คั่งค้างในใจไม่ว่าจะเรื่องงาน เรื่องเศรษฐกิจ ความรัก ปรากฏอยู่ในชั้นความคิด แล้วปล่อยให้ความคิดไหลลื่นไป แล้วเราเฝ้าฟัง
  1. ระหว่างฟังเสียงความคิดเหล่านั้น ลองให้ร่างกายมีปฏิกิริยาตอบสนองต่อเสียงเหล่านั้นเหมือนเวลาเราเต้นกับเสียงเพลง คราวนี้เต้นกับความคิดในใจ อยากกำมือ สะบัดมือ แบมือ ยกมือช่วงไหน ก็ปล่อยให้มันทำไปแบบอิสระ แล้วเราเฝ้ามอง
  1. ถ้าสามารถอนุญาตให้ภาพของเรื่องราวที่คิดอยู่มันเกิดขึ้นมาได้เราก็สามารถใช้การเคลื่อนไหวของแขนขามีปฏิกิริยาตอบสนองต่อภาพนั้นก็ได้ ไม่สามารถบอกเป๊ะๆ ได้ว่าต้องทำแบบไหน คิดว่าลองทำเองเลยจะง่ายกว่าเพราะทุกอย่างคือใช่หมดเหมือนกับเวลาพยายามอธิบายอะไรสักอย่างให้อีกคนเข้าใจแล้วเราใช้มือเพื่อขยายความเรื่องนั้นๆ 
  1. ใส่ความรู้สึกที่มีลงไปในการเคลื่อนไหวได้ เช่น ถ้ารู้สึกโกรธก็ใส่ความโกรธในการแกว่งแขน หรือถ้ารู้สึกเหนื่อยก็ลองให้ความเหนื่อยปรากฏในการเคลื่อนไหวร่างกาย เราจะได้รับรู้ความรู้สึกตัวเองชัดขึ้นอีกระดับ
  1. เฝ้าสังเกตตัวเองว่าเชื่อมโยงกับเรื่องที่แบกมาในหัวในใจอย่างไร 
  1. วิ่งไปให้ครบระยะ และก่อนเริ่มวอร์มดาวน์ ยืนอยู่กับตัวเองสักพักเพื่อรับรู้ถึงภาวะ ณ ปัจจุบันขณะสักหนึ่งนาทีเป็นอย่างน้อย ช่วงเวลานี้ค่อยทวนกับตัวเองอีกทีว่าระหว่างที่วิ่งมีเรื่องอะไรผ่านเข้ามาและเราได้อะไรจากการอยู่กับมันระหว่างวิ่งบ้าง
  1. วอร์มดาวน์ตามอัธยาศัยหลายคนมีแนวโน้มว่าเมื่อมีความรู้สึกเครียดหรือเกิดภาวะไม่พึงประสงค์กับใจ จะพยายามเก็บกดความรู้สึกนั้นไว้ หรือไม่ก็พยายามหลีกเลี่ยงที่จะทำความเข้าใจและค้นหาวิธีรับมือกับมัน และเมื่อภาวะนั้นสะสมหรือเรื่องราวบางอย่างไม่ได้รับการรู้เท่าทันมันก็จะเป็นปัญหาที่ใหญ่ขึ้นกว่าเดิม เช่น เครียดกับงาน พอเลิกงานก็ไม่พูดถึงมันเลย แล้วพอวันรุ่งขึ้นถึงที่ทำงานก็เริ่มรู้สึกใหม่ วนไปแบบนี้เป็นปีๆ


สรุปทั้งหมด

เพราะฉะนั้น.. การวิ่งไปกับปัญหาเท่ากับการกล้าเผชิญหน้ากับปัญหาที่แบกอยู่ การยอมให้ความรู้สึกที่ตัวเองไม่อยากมี (Unwanted Feelings) มีพื้นที่อยู่ในเนื้อในตัวเราก็เป็นสิ่งที่ Healthy มันจะเป็นก้าวแรกของการจัดการอารมณ์และรับมือกับปัญหาต่างๆในชีวิต มันเป็นการจัดการอารมณ์แบบ Healthy ดีกว่าการเอาอารมณ์เสียไปองตัวเองไปเหวี่ยงลงกับคนอื่นหรือพฤติกรรมทำร้ายตัวเองบางอย่าง 

กระบวนการวิ่งไปกับความคิดจิตใจด้วยการคุยกับตัวเองแบบนี้ เราทำได้บ่อยเท่าที่ต้องการ และทำได้สนุกกว่าเพราะว่าไม่ต้องกังวลว่าใครจะมาตัดสินอะไรกับความคิดความอ่านของเรา อยากเศร้า อยากโกรธ อยากสบถ ก็สามารถทำให้ระดับความดังที่ไม่ทำร้ายใคร เอาจริงๆ ทุกวันนี้ที่วิ่งๆ กันอยู่ก็เห็นคนอื่นๆ พูดกับตัวเองเบาๆ กันออกบ่อยไป เป็นเรื่องธรรมชาติ

หากเราวิ่งเพื่อเผชิญหน้ากับปัญหา และวิ่งให้ร่างกายเคลื่อนไหวเพื่อค้นหาทางออกให้ปัญหาแบบนี้ไปสักพัก  มุมมองของเราที่มีต่อปัญหาต่างๆ ที่เข้ามาในชีวิตจะเปลี่ยนไป เราจะเห็นปัญหาว่าเป็นเรื่องจัดการได้ แล้วเราจะไม่วิ่งหนีมันแต่เราจะวิ่งไปกับมัน แล้วเราจะค้นพบว่าวิ่งแล้วเกิดความเข้าใจในตัวเองเป็นยังไง

หากหนึ่งสัปดาห์แบ่งเวลาไปวิ่งสักสามครั้ง ลองเจียดเวลาสักสัปดาห์ละหนึ่งครั้งให้กับการวิ่งเพื่อเคลียร์ปัญหาและสิ่งที่คั่งค้างในจิตใจเพื่อออกกำลังใจ แล้วลองดูว่าสมดุลทางใจของคุณเปลี่ยนไปอย่างไร วิ่งไปเลย วิ่งยังไงก็ได้ อย่าห่วงฟอร์ม...

ดุจดาว วัฒนปกรณ์